การประกันเจ็บป่วยและอุบัติเหตุอันเนื่องจากการทำงาน

การประกันเจ็บป่วยและอุบัติเหตุอันเนื่องจากการทำงาน

พ.ร.บ. ประกันค่าทดแทนอุบัติเหตุในอุตสาหกรรม (Industrial Accident Compensation Insurance Act) กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องทำประกันอุบัติเหตุในการทำงานให้ลูกจ้างทุกคน   ภายใน 15  วัน นับจากวันทำสัญญาจ้าง  ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำหรือชั่วคราว  ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือบาดเจ็บจากการทำงาน โดยไม่คำนึงถึงสาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บซึ่งอาจเกิดจากความไม่รู้หรือความผิดของลูกจ้าง  และไม่คำนึงถึงสถานะแม้ว่าจะทำงานกับสถานประกอบการที่ผิดกฎหมายหรือเป็นแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย   โดยลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงานจะได้รับการรักษาพยาบาล  และค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ     ค่าทดแทนการขาดรายได้  ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ  และหากประสบอันตรายถึงแก่ความตาย   นอกจากได้รับค่าทำศพแล้วทายาทยังได้รับเงินทดแทนอีกด้วย
                 ลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงานและอยู่ระหว่างการพักรักษาตัว  สามารถปฏิเสธการทำงานโดยนายจ้างไม่สามารถบังคับให้ทำงานหรือบังคับให้ออกนอกประเทศได้   ในกรณีที่ลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุยังอยู่ระหว่างการรักษาแต่สามารถทำงานได้  ลูกจ้างผู้นั้นยังมีสิทธิรับค่ารักษาพยาบาลจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา  โดยได้รับค่าจ้างแรงงานจากนายจ้างและหมดสิทธิ์รับค่าทดแทนการขาดรายได้    
               
                  สำหรับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายที่เกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน  ให้ใช้ใบรับรองแพทย์และเอกสารรับรองจากสำนักงานประกันอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน  นำไปดำเนินการเพื่อรับเอกสารรับรองการอยู่อาศัยในเกาหลีใต้ (วีซ่า G-1) ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยจะได้รับอนุญาตให้พำนักในเกาหลีใต้จนสิ้นสุดการรักษา


สิทธิประโยชน์จากการประกันเจ็บป่วยและอุบัติเหตุอันเนื่องจากการทำงาน มีดังนี้

                  (1) ค่ารักษาพยาบาล (Medical Care Benefits)   เป็นเงินที่จ่ายให้แก่แรงงานที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลตั้งแต่ 4 วันขึ้นไป  ได้แก่ ค่าตรวจวินิจฉัย  ค่ายา ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์  ค่าผ่าตัด  ค่าอวัยวะเทียม  ค่าส่งต่อ
                  (2) ค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพชั่วคราว (Temporary Disability Benefits) เป็นเงินที่จ่ายให้แก่แรงงานในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายวันเฉลี่ย เพื่อทดแทนการขาดรายได้ระหว่างรับการรักษาพยาบาล
                  (3)  ค่าทดแทนรายปี (Injury-disease Compensation Annuity)  เป็นเงินที่จ่ายให้แรงงานที่ได้รับการรักษาพยาบาลมานานกว่า 2 ปี แต่ยังไม่สิ้นสุดการรักษา จำนวนค่าทดแทนขึ้นอยู่กับระดับความพิการ ดังนี้
                     @  ความพิการระดับที่ 1   ได้รับค่าทดแทน 329 วันของค่าจ้างเฉลี่ย
                     @  ความพิการระดับที่ 2   ได้รับค่าทดแทน 291 วันของค่าจ้างเฉลี่ย
                     @  ความพิการระดับที่ 3   ได้รับค่าทดแทน 257 วัน ของค่าจ้างเฉลี่ย
-->
                  (4)  ค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพถาวร (Permanent Disability)  เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับแรงงานที่ประสบอันตราย  หรือเจ็บป่วยจนพิการทางร่างกายหรือจิตใจ  จำนวนเงินทดแทนขึ้นอยู่กับระดับความพิการ
                  (5) ค่าดูแล (Nersing Benefits) สำหรับแรงงานที่สิ้นสุดการรักษาพยาบาลแล้วแต่ยังจำเป็นต้องมีผู้ดูแลเป็นประจำหรือครั้งคราว
                  (6) ค่าทดแทนแก่ทายาท (Survivors Benefits) เป็นสิทธิประโยชน์ที่จ่ายแก่ทายาท หรือ    ผู้อยู่ในอุปการะของแรงงานที่เสียชีวิตจากการทำงาน โดยเหมาจ่ายให้จำนวน 1,300 วันของค่าจ้างเฉลี่ยรายวัน
                  (7) ค่าจัดการงานศพ (Funeral Expenses)  เป็นค่าใช้จ่ายจริงที่จ่ายให้แก่ผู้จัดการศพของแรงงานที่เสียชีวิตจากการทำงาน โดยคำนวณจ่ายเท่ากับ 120 วันของค่าจ้างเฉลี่ยรายวัน แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 9,093,040 วอน และไม่เกิน 12,659,320 วอน (อัตราปี 2555)

ขอบคุณที่ติดตามบล็อก konthai 122
ที่มา : ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล