นโยบายด้านแรงงานในเกาหลี

แรงงานไทยในเกาหลี

สาธารณรัฐเกาหลีได้เร่งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมจนเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICS)   มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในระดับแนวหน้าของ
เอเชีย ซึ่งการพัฒนาดังกล่าว จำเป็นต้องใช้กำลังแรงงานในภาคการผลิตของระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก แต่กฎหมายเกาหลี คือ Exit and Entry Control Act 1977 ไม่อนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างชาติ ยกเว้นงานพิเศษบางประเภท และการเข้าไปฝึกอบรมการทำงานหรือเข้าไปทำงานผ่านบริษัทร่วมทุนของเกาหลี ดังนั้นเกาหลีจึงประสบปัญหาการขาดแคลนกำลังแรงงาน  โดยเฉพาะแรงงานกึ่งฝีมือและไร้ฝีมือ  ด้วยเหตุที่ชาวเกาหลีไม่นิยมทำงานไร้ฝีมือ ประเภท 3D ได้แก่ งานสกปรก (Dirty) งานยากลำบาก (difficult) งานเสี่ยงอันตราย (dangerous) จึงมีแรงงานจากประเทศต่างๆ ลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้ค่าตอบแทนสูง คาดว่าจำนวนแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายในเกาหลีอาจมากถึง 380,000 คน แรงงานต่างชาติผิดกฎหมายในเกาหลี  ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ไทย อินเดีย ปากีสถาน พม่า และจีน

          เมื่อปัญหาการขาดแคลนกำลังแรงงานมีความรุนแรงมากขึ้น และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ   ดังนั้นในปี 36 รัฐบาลเกาหลีได้เปิดโอกาสให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางนำเข้าแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่กับบริษัทร่วมทุนของเกาหลีกับต่างชาติเข้าไปทำงานในเกาหลี ในรูปของการฝึกงาน (Training) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี และได้ขยายระยะเวลาการฝึกงานเป็นไม่เกิน 3 ปีในเวลาต่อมา
    ภายหลังการดำเนินนโยบายรับผู้ฝึกงาน รัฐบาลเกาหลี พบว่า การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังแรงงานของประเทศไม่ประสบความสำเร็จ   ทั้งยังทำให้ปัญหาแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายมีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ฝึกงานจำนวนมากหลบหนีสัญญาฝึกงานไปลักลอบทำงานที่อื่น ซึ่งได้ค่าจ้างสูงกว่า ประกอบกับระบบการรับผู้ฝึกงานอุตสาหกรรมได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายโดยเฉพาะ NGOs ด้านแรงงานว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะคนต่างด้าวได้ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าปกติ  มีสภาพการทำงานที่หนัก สกปรกและเสี่ยงอันตราย ดังนั้น รัฐบาลเกาหลีจึงนำระบบการนำเข้าแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System for Foreigner: EPS) ควบคู่กันไปกับระบบ Traning  ซึ่งนโยบายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเกาหลี เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 และมีผลบังคับใช้วันที่ 17 สิงหาคม 2547 โดยอนุญาตให้แรงงานต่างชาติทำงานได้เฉพาะใน 5 สาขากิจการ คือ
1.    อุตสาหกรรมการผลิต ในธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีพนักงานประจำน้อยกว่า 300 คน
2.    การประมง ในกิจการประมงชายฝั่งที่มีเรือลากอวนขนาด 10-25 ตัน
3.    การเกษตรและเลี้ยงสัตว์
4.    การก่อสร้าง ในกิจการที่มีงบโครงการไม่เกิน 3 หมื่น ล้านวอน
5.    การบริการ ในงาน 6 ประเภท ได้แก่ งานในภัตตาคาร งาน Business support service เช่น งานทำความสะอาดตึก งานบริการสังคม งานทำความสะอาด งานดูแลผู้ป่วย งานผู้ช่วยงานบ้าน
      อย่างไรก็ตามแม้จะอนุญาตให้สถานประกอบการนำเข้าแรงงานต่างชาติได้  รัฐบาลเกาหลีก็ได้พยายามลดการใช้แรงงานต่างชาติ โดยให้กระทรวงการค้าอุตสาหกรรมและพลังงานเกาหลีตั้งงบประมาณ สำหรับเพื่อใช้เป็นเงินอุดหนุนให้แก่โรงงานที่จ้างแรงงานชาวเกาหลีทดแทนแรงงานต่างชาติ โดยกำหนดจ่ายเงิน 500,000 วอนต่อการจ้างแรงงานทดแทน 1 คน เพื่อเป็นการสร้างงานให้แก่ชาวเกาหลีใต้ที่ว่างงาน และได้กำหนดมาตรการให้ลดอัตราการจ้างงานผู้ฝึกงานทางอุตสาหกรรมลงร้อยละ 80 จากจำนวนในปัจจุบัน โดยจะลดโควตาผู้ฝึกงานทางอุตสาหกรรมของประเทศผู้ส่งออกแรงงานในเกาหลีลง 2 ใน 3 แต่สำหรับกิจการที่มีขนาดเล็กและไม่สามารถจ้างแรงงานท้องถิ่นที่มีค่าจ้างสูงได้ จะยังคงได้รับอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติได้ต่อไป
          แม้ว่าอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเกาหลีจะเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2003  แต่ด้วยเหตุที่มูลค่าสินค้าส่งออกยังคงขยายตัวในอัตราสูงส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  ธนาคารแห่งชาติเกาหลีประมาณการว่า ในปี 2006 อัตราความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศ จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 5  แต่การที่กำลังแรงงานใหม่ของเกาหลีนิยมทำงานในสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่จ่ายค่าตอบแทนสูง มีสวัสดิการดี  ทำให้สถานประกอบการของกลางและขนาดเล็กอันเป็นหน่วยผลิตที่สำคัญของเศรษฐกิจ  ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเช่นเดิม  คาดว่ารัฐบาลเกาหลีจะดำเนินนโยบายอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างชาติต่อไปอีกระยะหนึ่ง  ขณะนี้กระทรวงแรงงานเกาหลี อยู่ระหว่างดำเนินการทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจัดส่งแรงงานกับประเทศผู้ส่ง จำนวน 6 ประเทศ  คือ อินโดนีเซีย  มองโกลเลีย  ศรีลังกา  ฟิลิปปินส์  ไทย  เวียดนาม  และจะมีประเทศผู้ส่งใหม่อีก 4   ประเทศคืออุซาเบกิสถาน  ปากีสถาน เขมร และจีน โดย มีโควต้าการนำเข้าแรงงานต่างชาติ ปี 2006  จำนวน 34,750 คน ในระยะต่อไป สาธารณรัฐเกาหลีจะพิจารณาเพิ่มจำนวนประเทศผู้ส่งแรงงานอีก ได้แก่ อิหร่าน พม่า บังคลาเทศ เนปาล คาซัคสถาน ยูเครน เคอติซสถาน

ขอบคุณที่ติดตามบล็อก konthai 122
ที่มา : korea.mol.go.th